วารสาร NeuroscienceNews. ได้รายงานว่า นักวิจัยค้นพบว่าการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาท หรือการกระตุ้นกระแสประสาทที่ไขสันหลังช่วยให้คนไข้ที่เป็นอัมพาต 2 รายสามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแบบตั้งใจได้ โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทดังกล่าวช่วยลดภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยเฉพาะในหลอดเลือดแดงที่อยู่ในระบบการไหลเวียนเลือด โครงการวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทหลังจากระบบประสาทได้รับความเสียหาย (E-STAND) บทความดังกล่าวระบุว่า การวิจัยนี้ได้สังเกตการณ์กรณีของคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังระดับรุนแรงเรื้อรัง และพบว่าคนไข้ที่เป็นอัมพาตท่อนล่างเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังสามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแบบตั้งใจ และการทำงานแบบอัตโนมัติได้โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อสร้างความแข็งแรง
ในการประชุมสาขาวิทยาศาสตร์ของสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาประจำปี พ.ศ. 2561 นายแพทย์เดวิด ดาร์โรว์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล Philip L. Gildenberg, MD, Resident Award ได้นำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ “การฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแบบตั้งใจในคนไข้ 2 รายที่เป็นอัมพาตท่อนล่างโดยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทที่ไขสันหลัง” งานวิจัย E-STAND นี้ออกแบบมาเพื่อประเมินผลการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทในคนไข้ที่เป็นอัมพาตท่อนล่าง โดยใช้การเคลื่อนไหวและการทำงานของหลอดเลือดหัวใจเป็นตัวชี้วัด ในขณะที่คนไข้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทที่บ้าน
นักวิจัยได้ทำการคัดเลือกผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยจากบรรดาคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังแบบเรื้อรังหลากหลายกลุ่ม ซึ่งมีระดับการทำงานของระบบประสาทสั่งการตั้งแต่ C6 ถึง T10 และได้รับบาดเจ็บมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี โดยคนไข้จะต้องมีร่างกายท่อนบนแข็งแรงเต็มที่และมีรอยโรคที่ไขสันหลังแยกเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจนเมื่อตรวจด้วยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) คนไข้สองรายแรกได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์กระตุ้นกระแสประสาทที่มีขั้วไฟฟ้า และทีมนักวิจัยได้ติดตามอาการของคนไข้อย่างต่อเนื่อง
คนไข้ 2 รายแรกที่ได้รับการคัดเลือกเป็นคนไข้หญิงอายุระหว่าง 50-60 ปี และเป็นอัมพาตท่อนล่างชนิดที่สูญเสียการทำงานของระบบประสาทสั่งการและการรับความรู้สึกแบบสมบูรณ์ ทีมนักวิจัยได้ประเมินผลหลังจากที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทไปแล้ว 36 ชั่วโมง โดยคนไข้ทั้งสองรายสามารถเคลื่อนไหวแบบตั้งใจได้เฉพาะในช่วงที่ทำการกระตุ้นกระแสประสาทเท่านั้น ซึ่งนับเป็นการการค้นพบครั้งสำคัญเนื่องจากคนไข้ได้รับการผ่าตัดมานานถึง 11 และ 5 ปีตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่า การรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทช่วยให้ความดันโลหิตของคนไข้กลับสู่ภาวะปกติได้แม้ก่อนหน้านั้นคนไข้จะมีภาวะความดันโลหิตต่ำระดับรุนแรงมาก่อน โดยคนไข้รายที่สองแสดงอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำระดับรุนแรงเมื่อได้รับการตรวจประเมินแบบคัดกรอง จึงให้คนไข้รายนี้ได้รับการตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ ในขณะที่คนไข้รายแรกไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เกี่ยวกับความดันโลหิต คนไข้ยังสามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้ดีขึ้นด้วย
วารสารNeuroscienceNews ยังระบุว่า งานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยแรกที่คนไข้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยโดยใช้ภาพเอกซ์เรย์ว่าได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังระดับรุนแรงสามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแบบตั้งใจและการทำงานแบบอัตโนมัติหลังจากได้รับการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาท