Updates Worldwide

Latest Breaking News and Information

มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์เชื่อมั่นว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทจะเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี

ในแต่ละปีการบาดเจ็บที่ไขสันหลังทำให้คนไข้กว่า 500,000 คนทั่วโลกมีชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล โดยอาการหลักที่คนทั่วไปรู้จักกันดีก็คือ อาการอัมพาด หรือการที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ นอกจากนี้คนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังยังต้องทุกข์ทรมานกับอาการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำเรื้อรัง ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ เป็นต้น

การบาดเจ็บที่ไขสันหลังเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาได้ จึงทำให้นักวิจัยและสถาบันการแพทย์ทั่วโลกต่างพยายามคิดค้นวิธีการรักษาคนไข้เหล่านี้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีการค้นพบวิธีรักษาที่ได้ผลดีกับคนไข้มากมาย จึงช่วยจุดประกายความหวังในการรักษาให้กับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

มีงานวิจัยมากมายที่ค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษา และหนึ่งในนั้นก็คืองานวิจัยของนายแพทย์เกลนน์ เฮิร์ช ซึ่งเป็นศาสตราจารย์สาขาโรคหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ ร่วมกับด็อกเตอร์ซูซาน ฮาร์เคมา และนักวิจัยอื่น ๆ จากศูนย์วิจัยการบาดเจ็บไขสันหลังเคนทักกี

การวิจัยครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกระตุ้นกระแสประสาทในคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังส่วนคอ คนไข้เหล่านี้เคยทุกข์ทรมานกับภาวะความดันโลหิตต่ำเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย และทำให้คนไข้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ผลการวิจัยพบว่า หลังจากที่คนไข้ได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกระตุ้นกระแสประสาทแล้ว คนไข้มีอาการดีขึ้นมาก โดยเมื่อเปิดใช้งานอุปกรณ์จะทำให้ความดันโลหิตของคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังเหล่านี้กลับสู่ภาวะปกติ และความดันโลหิตจะลดต่ำลงเมื่อหยุดกระตุ้นกระแสประสาท

สเตฟานี พุทนัม ซึ่งเป็นคนไข้หนึ่งในสี่คนที่เข้ารับการทดลองได้บอกเล่าความรู้สึกตื่นเต้นหลังการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกระตุ้นกระแสประสาท “การผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกระตุ้นกระแสประสาททำให้ดิฉันรู้สึกถึงความแตกต่างได้ทันที จากเดิมดิฉันรู้สึกเหมือนถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้ติดอยู่กับพื้น แต่เมื่อใช้อุปกรณ์แล้วดิฉันรู้สึกมีพลังชีวิตมากขึ้น

ผลการวิจัยครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์และศูนย์วิจัยการบาดเจ็บไขสันหลังเคนทักกีนับเป็นการยืนยันผลการวิจัยที่ผ่านมาของศูนย์วิจัยการบาดเจ็บไขสันหลังเคนทักกี ซึ่งพบว่าคนไข้สามารถเคลื่อนไหวได้เอง ยืนและก้าวเดิน ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ และมีสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์เชื่อมั่นว่า การรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทจะเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี และทางมหาวิทยาลัยจะค้นคว้าวิจัยด้านการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระตุ้นกระแสประสาทต่อไป เพื่อหาวิธีช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังให้สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งหนึ่ง

Share this post

Take the First Step To Recovery