Updates Worldwide

Latest Breaking News and Information

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับอาหารสำหรับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ไขสันหลังอาจทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง คนไข้อาจรู้สึกว่าตนเองแทบไม่สามารถควบคุมการรักษาอาการบาดเจ็บไขสันหลัง บริการทางการแพทย์ และปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกายได้เลย อาหารและโภชนาการนับเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต และคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังสามารถควบคุมเรื่องอาหารการกินของตนเองได้ไม่ยาก การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสุขภาพ และยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์อีกด้วย

เหตุใดอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

ปกติแล้วคนเราควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และปฏิบัติตามคำแนะนำด้านโภชนาการ แต่สำหรับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์หากรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ

หากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังรับประทานอาหารที่ไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ดังต่อไปนี้

  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลกดทับ
  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น
  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และภาวะคอเลสเตอรอลสูงเพิ่มขึ้น
  • อาจมีปัญหาน้ำหนักตัวและปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการพึ่งพาตนเอง
  • มีปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระเนื่องจากระบบประสาท

นอกจากนี้ อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งอุดมด้วยสารอาหารต่าง ๆ ยังช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับอาหารสำหรับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังและต้องการปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทานควรปรึกษาแพทย์และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดโปรแกรมอาหารเฉพาะบุคคลที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวและการใช้ชีวิตของตนเอง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นแนวทางทั่วไปที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์จากการได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังได้

น้ำหนักตัว

การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังอาจทำให้องค์ประกอบร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เช่น เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อลดลง ดังนั้นจึงควรปรับคำแนะนำเกี่ยวกับน้ำหนักตัวให้เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โดยปกติแล้วผู้ที่เป็นอัมพาตท่อนล่างควรมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าคำแนะนำทั่วไป 5-10% ส่วนผู้ที่เป็นอัมพาตทั้งตัวควรมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าประมาณ 10-15% อย่างไรก็ตามคนเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวว่าน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับคุณควรเป็นเท่าใด

Maintaining a healthy weight is important for spinal cord injury patients

การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังอาจทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายลดลงเนื่องจากกล้ามเนื้อลีบเล็กลง ดังนั้นคนไข้จึงจำเป็นต้องปรับการรับประทานอาหาร โดยรับประทานทีละน้อย เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานน้อยลง

การรักษาน้ำหนักตัวและอัตราการเผาผลาญให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคอ้วน การออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ และช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญได้

ปัญหาการขับถ่ายอุจจาระเนื่องจากระบบประสาท

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังมักประสบปัญหาการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจะช่วยให้คนไข้สามารถจัดการกับอาการดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น ใยอาหารเป็นสารอาหารสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระได้ จึงแนะนำให้รับประทานใยอาหารวันละ 30 กรัมซึ่งจะช่วยให้อุจจาระสามารถเคลื่อนไปยังลำไส้ได้ แต่ก็มีคนไข้บางรายที่รับประทานใยอาหารเกินวันละ 20 กรัมแล้วมีโอกาสที่จะท้องผูกมากกว่าปกติ ในกรณีเช่นนี้ให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณใยอาหารที่รับประทานทีละน้อย และคอยสังเกตเรื่องการขับถ่าย

ใยอาหารพบมากในขนมปังโฮลวีท ถั่ว ผัก และผลไม้ ตลอดจนธัญพืชไม่ข้ดสีและข้าวโพดคั่ว

ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้อุจจาระนุ่มและขับถ่ายได้ง่าย โดยพยายามดื่มน้ำให้ได้วันละ 1.5 ลิตร

แผลกดทับ

การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงจะช่วยให้แผลกดทับหายเร็วขึ้น โปรตีนไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ แต่ยังช่วยสมานแผลที่เกิดขึ้นแล้วอีกด้วย การรับประทานโปรตีนให้เพียงพอเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมาก หากเลือกรับประทานอาหารว่างที่มีโปรตีนสูง เช่น ถั่ว ก็จะทำให้ได้รับโปรตีนมากขึ้น

การรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดแผลแตกได้ ในแต่ละมื้อควรรับประทานอาหารให้มีสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่หลากหลาย ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามินรวมเสริมด้วย

นอกจากนี้การดื่มน้ำมาก ๆ ก็สามารถช่วยป้องกันแผลกดทับได้เช่นกัน เนื่องจากช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จึงควรดื่มน้ำมาก ๆ จนสังเกตว่าปัสสาวะมีสีอ่อน แต่การดื่มน้ำมากเกินไปก็อาจทำให้โซเดียมในกระแสเลือดเจือจางจนทำให้เกิดอาการสับสน ตะคริว และชักได้ การจัดอาหารเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังจึงควรคำนึงว่ามีปริมาณเกลือแร่เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ด้วย

น้ำแครนเบอร์รีมีสรรพคุณช่วยลดปริมาณแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ จึงสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ หากดื่มน้ำแครนเบอร์รีคั้นสดวันละ 3 เวลาอาจช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดจากแครนเบอร์รี และหากต้องการปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

Good nutritional advice should be followed by individuals with a spinal cord injury

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านโภชนาการอย่างเคร่งครัด

ข้อควรรู้ 10 ประการเกี่ยวกับอาหารสำหรับคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

  1. ให้ระมัดระวังเรื่องปริมาณอาหาร และมีสติในการรับประทานเสมอ โดยหยุดรับประทานเมื่อรู้สึกอิ่ม ไม่รับประทานอาหารขณะดูโทรทัศน์หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เนื่องจากจะทำให้รับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย
  2. เลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำแต่มีใยอาหารสูง ธัญพืชไม่ขัดสีมีปริมาณใยอาหารสูง จึงควรเลือกรับประทานขนมปังและซีเรียลที่ทำจากธัญพืชไม่ขัดสี
  3. วางแผนการรับประทานล่วงหน้า เพื่อจะได้ไม่เผลอรับประทานอาหารจานด่วนที่ไม่ดีต่อสุขภาพในขณะที่รู้สึกหิว
  4. ให้เตรียมอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้หรือถั่ว สำหรับรับประทานในเวลาหิว
  5. อาหารแต่ละจานที่รับประทานควรมีผักหลากชนิด ธัญพืชที่อุดมด้วยใยอาหาร และโปรตีน
  6. ให้ชั่งน้ำหนักตัวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณระมัดระวังเรื่องน้ำหนักตัวและสุขภาพมากขึ้น
  7. ให้ดื่มน้ำเปล่า ส่วนเครื่องดื่มที่มีรสหวานมักมีแคลอรีสูงจึงทำให้คุณได้รับแคลอรีเกินกว่าที่ต้องการโดยไม่ได้รับสารอาหารใด ๆ
  8. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญ ช่วยเผาผลาญพลังงาน และทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข การออกกำลังกายจึงช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  9. รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ เพื่อให้คุณรู้สึกมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดวัน
  10. จำกัดปริมาณอาหารทอดที่มีไขมันสูง และเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำแทน

Share this post

Take the First Step To Recovery